วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2559

มารู้จักฉนวนอีก 3 ชนิด

ไม่ได้เขียนบล็อกนี้นานครับ เพราะงานค่อนข้างเยอะ ตอนนี้ผมทำเว็บใหม่อีกเว็บหนึ่ง ชื่อว่าเว็บไซต์หยุดที่นี่ ซึ่งเป็นเว็บวาไรตี้ครับ รวมเรื่องราวดีๆให้อ่านกัน (ไอเดียแต่งบ้าน, ธรรมะ, สุขภาพ, ท่องเที่ยว) ใครสนใจก็เข้าไปดูได้ครับ www.yudtini.com

กลับมาที่เนื้อหาของบล็อกนี้ครับ ในตอนนี้เรามารู้จักฉนวนใหม่ๆกันบ้าง ซัก 3 ชนิด ซึ่ง ฉนวน 3 ชนิดนี้มีจำหน่ายในประเทศไทย และนิยมใช้กันเช่นกันครับ มีฉนวนอะไรบ้าง ลองมาดูกันครับ

มารู้จักฉนวนอีก 3 ชนิด Rockwool, Cellulose, Polyester


1. ฉนวน Cellulose หรือ ฉนวนเยื่อกระดาษ
ทำจากเศษหนังสือพิมพ์ที่ใช้แล้วมาตัด มาปั่นเป็นเส้นใย ผสมกับสารเคมีต่างๆ ที่ไม่เป็นอันตราย ผสมสารกันไฟลาม ฯลฯ มีทั้งแบบแผ่นและแบบพ่น มักนิยมใช้พ่นหลังคาเพื่อกันร้อน

จุดเด่น: ราคาถูก และพ่นในพื้นที่ใหญ่ๆได้  เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

มารู้จักฉนวนอีก 3 ชนิด Rockwool, Cellulose, Polyester

2. ฉนวนโพลีเอสเตอร์
ทำจากเศษขวดน้ำพสาสติกรีไซเคิล 85 % (ขวด PET) และเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ผ่านการอบความร้อนเพื่อยึดเส้นใยเข้าด้วยกันโดยไม่มีส่วนผสมของกาว มีทั้งแบบแผ่นและแบบม้วน

จุดเด่น: จับแล้วไม่คัน ไม่ระคายเคือง เป็นเส้นใยประเภทเดียวกับที่ทำเสื้อผ้า ปลอดภัย

มารู้จักฉนวนอีก 3 ชนิด Rockwool, Cellulose, Polyester

3. ฉนวนใยหิน Rock Wool  (ไม่ใช่แร่ใยหิน Asbestos)
เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่นำมาจากเศษตะกรัน (Slag) และหินบะซอลท์ (ไม่มีแร่ Asbestos) มาหลอมรวมกันที่อุณหภูมิสูงเหมือนกับการหลอมเศษแก้ว (กระบวนการผลิตคล้ายกันกับฉนวนใยแก้ว) จากนั้นทำให้เย็นตัวลง แล้วนำมาปั่นด้วยความเร็วสูง ก็จะได้เป็นเส้นใยหินตามที่ต้องการ

จุดเด่น: การใช้งานค่อนข้างใกล้เคียงกับฉนวนใยแก้ว ดูดซับเสียงได้ดีมาก เมื่อจับหรือสัมผัสอาจระคายเคืองเล็กน้อย การใช้งานเลยมักใช้ในพื้นที่ปิด และจุดเด่นที่สำคัญอีกอย่างของ Rock Wool คือ เมื่อนำมาเผาฉนวนแทบจะไม่ไหม้ ไม่ติดไฟครับ จึงนิยมใช้ในผนังกันไฟ

มารู้จักฉนวนอีก 3 ชนิด Rockwool, Cellulose, Polyester

ในบล็อกนี้คงไม่ได้พูดถึงเรื่องคุณสมบัติด้านอื่นๆนะครับ เพราะเน้นเรื่องประหยัดพลังงาน ประหยัดความร้อนเป็นหลัก ลองมาดูกราฟเปรียบเทียบการกันความร้อนของฉนวนทั้ง 4 แบบกันเลย (ผมใส่ฉนวนใยแก้วไปด้วยนะครับ เป็น ฉนวน 4 ประเภท)

มารู้จักฉนวนอีก 3 ชนิด Rockwool, Cellulose, Polyester
(*กราฟนี้เอาค่ามาจากแคตตาล็อก เมืองนอกบ้าง-ไทยบ้าง และเอาค่าความหนาแน่นของฉนวนที่มีขายในไทยครับ)

หากเปรียบเทียบกันแล้วค่าพอๆกันนะครับ 3.xx กว่าๆ ตามกราฟนี้ใยแก้วจะกันร้อนได้ดีที่สุดครับ (ต่างกันไม่มาก แค่จุดทศนิยม)

ดังนั้น การเลือกใช้งานฉนวนต้องดูตามความเหมาะสมเป็นหลัก เช่น ราคา, พื้นที่ติดตั้ง, ความสะดวกในการติดตั้ง ฯลฯ ครับ

สำหรับผมแล้ว ผมใช้ทุกตัวครับ :)


จบตอนที่ 17