เพียงปูฉนวนใยแก้วบนฝ้าเพดาน ความร้อนก็ลดลงมาก
ในตอนที่แล้ว ผมได้พูดถึงค่าความต้านทานความร้อน (R Value) ของวัสดุต่างๆกันบ้างแล้ว
หลายคนคงพอเข้าใจแล้วนะครับ ว่าวัสดุที่กันร้อนได้ดีต้องมีค่า R สูงๆ
ในตอนนี้ลองมาดูกันครับว่า หากหลังคาปูฉนวนใยแก้วแล้ว ความร้อนจะลดลงมากแค่ไหน??
ก่อนจะไปถึงเรื่องหลังคา มาดูเรื่องพื้นฐานๆกันก่อนครับ
โดยปกติแล้ววัสดุแทบทุกชนิดสามารถกันร้อนได้นะครับ
เพียงแต่จะได้มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่คุณสมบัติของวัสดุ
แม้แต่อากาศเอง ก็สามารถกันร้อนได้เช่นกัน
เมื่ออากาศเองก็เป็นฉนวน ดังนั้น ในการคำนวณ ค่า R ของผนังบ้าน
เราจะบวก ค่าฟิล์ม(ผิว)อากาศบางๆภายนอก และ ภายในด้วยครับ เพราะก็เป็นฉนวนเหมือนกัน
ดังเช่น ในรูปด้านบน R1, R3 คือ ฟิล์มอากาศภายนอกและภายใน ตามลำดับ ส่วน R2 คือ ค่า R ของวัสดุผนังเอง
หากจะหา ค่า R รวมของผนังทั้งหมด ในรูปบนนี้ ก็คือ R1+R2+R3 ครับ
----------------------------------------------------------------------------------------------
เมื่อวัสดุหนาขึ้น ค่า R ก็จะมากขึ้นด้วย
เช่น ในรูปด้านบน R2 จะเป็น 2 เท่าจากเดิม
เวลาคิด ก็ต้องเอา R2 มาคูณ 2 ด้วยครับ
[R รวม ของผนังในรูปด้านบน = R1+ (R2 x 2)+R3 ]
พูดง่ายๆ คือ วัสดุหนาขึ้นก็กันร้อนได้ดีขึ้นนั่นเอง
----------------------------------------------------------------------------------------------
หากผนังบ้านของท่านมีวัสดุหลายอย่างผสมกัน เช่น ผนังก่ออิฐฉาบปูน กรุไม้อัด ติดลามิเนต
ก็ต้อง คำนวณรวม R ทุกวัสดุทุกชั้น ครับ
----------------------------------------------------------------------------------------------
หลังคาบ้าน ก็คำนวณแบบเดียวกับผนัง ครับ คือ ต้องคิด R รวมทุกวัสดุ ทุกชั้น เช่นกัน
(R รวมของหลังคาบ้านตามรูป คือ R1 ฟิล์มอากาศภายนอก + R2 กระเบื้องหลังคา + R3 อากาศในโถงหลังคา + R4 ฝ้ายิปซั่ม+R5 ฟิล์มอากาศภายใน)
----------------------------------------------------------------------------------------------
R ยิ่งมากยิ่งป้องกันร้อนได้ดี ความร้อนที่ส่งผ่านเข้ามาภายในบ้านก็จะลดลงครับ
ค่า R รวม ก็คือ ค่าที่แสดงประสิทธิภาพการป้องกันความร้อนของผนังและหลังคานั่นเอง
เมื่อเราได้ค่า R รวมแล้ว จากนั้นเราจะนำมาคำนวณความร้อน (Q) อีกทีครับ
แต่พวกท่านไม่ต้องปวดหัวครับ
เพราะผมคำนวณมาให้เสร็จสรรพแล้ว ตามตารางด้านบน
ลองมาดูกันนะครับ
-จากตาราง พบว่า หลังคาบ้านทั่วๆไปที่ไม่มีฉนวน ค่า R แค่ 4.26 ครับ ซึ่งค่อนข้างต่ำ ทำให้บ้านร้อน
-หากเราปูฉนวนใยแก้ว 3 นิ้ว หรือ 6 นิ้ว เข้าไป สังเกต ค่า R จะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากครับ (จากเดิม 4.26 เป็น 14.40 และ 24.54 ตามลำดับ)
และลองมาดูในแง่ของพลังงานความร้อนที่ส่งผ่านกันบ้างครับ จากเดิม 229 บีทียูต่อชั่วโมง
-หากปูฉนวนใยแก้วหนา 3 นิ้ว พลังงานลดลงเหลือเพียง 68 บีทียูต่อชั่วโมง ลดลง 3.4 เท่า จากเดิม! (เอา 229/68)
-หากปูฉนวนใยแก้วหนา 6 นิ้ว พลังงานลดลงเหลือเพียง 40 บีทียูต่อชั่วโมง หรือลดลงประมาณ 6 เท่า เลยครับ!!
ดังนั้น การแก้ปัญหาความร้อนจากหลังคาง่ายที่สุด คือ การปูฉนวนนั่นเองครับ จะทนร้อนอยู่ทำไม?? รีบปูกันเลย! ^^