ห่างหายไปสักพักนะครับ เนื่องจากผมไปทำงานส่วนตัว ZEN ACOUSTIC อยู่ ซึ่งรับ งานด้านอะคูสติก ทำห้องกันเสียง สตูดิโอ ฉนวนดูดซับเสียง ฯลฯ ครับ
ถามว่า ประสบความสำเร็จไหม?? ก็ระดับหนึ่งครับ สิ่งที่สำเร็จ คือ ผมได้มีโอกาสเป็นที่ปรึกษาด้านอะคูสติกในโรงภาพยนตร์ รวมถึง ได้รับงานวัดเสียงสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง ด้วยครับในกทม.
แต่...รายได้ยังไม่เยอะเท่าไร ค่อยๆเป็นค่อยๆไปครับ :)
ทีนี้มาเข้าเรื่องของเรากันดีกว่าครับ
เนื้อหาในตอนนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากมีคนมาสอบถามผมครับ ว่าฉนวนชนิดนี้ ยี่ห้อนั้น ยี่ห้อนี้ แบบไหนที่กันร้อนได้ดีกว่ากัน ผมเลยมาสอนพวกเราคำนวณแบบง่ายๆกันครับ
ลองติดตามอ่านกัน...
การที่เราจะรู้ว่าฉนวนชนิดไหนดีกว่ากันนั้น เราต้องเทียบกันที่ค่า R ของเนื้อฉนวนครับ
ว่ายี่ห้อไหนค่า R มากกว่ากัน ค่า R ยิ่งมากก็จะยิ่งกันร้อนได้ดีครับ
โดยทั่วไปตามฉลากสินค้าต่างๆ อาจจะบอกค่า R มาบ้าง ไม่บอกบ้าง และคำนวณต่างกันบ้าง
บางครั้งคิดแค่เนื้อฉนวน บางครั้งคิดค่ารวม เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว
ดังนั้น ถ้าจะเทียบกันเฉพาะเนื้อฉนวนล้วนๆนั้น เราต้องดูที่ค่า K ครับ
ขั้นแรก ให้เราหาค่า K ของฉนวนที่สนใจจะซื้อมาใช้มาก่อนครับ
แล้วจดค่า K และความหนาของแต่ละตัวมาใส่ตารางครับ
ผมสมมติค่า ฉนวน 2 ตัว นะครับ ตามนี้:
จากนั้น เราต้องแปลงค่า K ให้เป็นค่า R ครับ โดยใช้สูตร R = x/K
โดยที่ x คือ ความหนา เป็นหน่วยเมตร ครับ
ความหนาเราต้องแปลงเป็นเมตรให้หมดครับ ตามนี้ ฉนวน A หนา 1 นิ้ว ก็คือ 0.025 เมตร ฉนวน B หนา 50 มม. ก็ คือ หนา 0.05 เมตร
เมื่อเราคำนวณ R = x/K
ฉนวน A จะได้ 0.025/0.029 = 0.86 sq.m.* K/W
ฉนวน B จะได้ 0.050/0.032 = 1.56 sq.m. * K/W
ตามกราฟ ด้านล่างครับ
จากกราฟด้านบน เราก็จะรู้แล้วว่า ฉนวน B มีค่า R สูงกว่า ฉนวน A และกันร้อนได้ดีกว่าครับ
ทีนี้โดยทั่วไปแล้ว ทางผู้ผลิต รวมถึงมาตรฐานค่า R ที่นิยมใช้กัน มักจะใช้หน่วยอังกฤษครับ เพราะมันจะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนกว่า รวมถึงการนำไปคำนวณ Btu ของเครื่องปรับอากาศจะทำได้ง่ายกว่า
ดังนั้น หากเราต้องการแปลงหน่วย จากกราฟด้านบน เป็นหน่วยอังกฤษ ให้เรานำค่าจากกราฟด้านบน คูณด้วย 5.678 ครับ จะได้หน่วยอังกฤษ
คือ
-ฉนวน A มีค่า R = 0.86 x 5.678 = 4.89 hr*sq.ft*F / Btu
-ฉนวน B มีค่า R = 1.56 x 5.678 = 8.87 hr*sq.ft*F / Btu
เมื่อมาพล็อตกราฟ ก็จะได้ตามด้านล่างครับ
สรุป:
1. ฉนวน B กันร้อนดีกว่า ฉนวน A ครับ
2. ฉนวน B กันร้อนดีกว่า ฉนวน A ประมาณ 1.8 เท่า [ 8.87/4.89 ]
3. ในการเปรียบเทียบนี้ คำนวณเฉพาะประสิทธิภาพการกันร้อน ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องอื่นๆ เช่น ราคา หรือ วิธีการติดตั้ง
4. หากต้องการเปรียบเทียบฉนวนอื่นๆ ก็ให้คำนวณ ตามวิธีนี้นะครับ
หวังว่า ผู้อ่านคงสามารถเลือกซื้อฉนวนกันได้อย่าง มีหลัก มีเกณฑ์ มากขึ้นนะครับ
จบตอนที่ 15 ครับ :)